วีซ่าระยะยาว 1

ไทยจะไม่เป็นเพียงสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจอีกต่อไป เพราะเป้าหมายใหม่ของรัฐบาลคือเปลี่ยนให้ที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองของ “ผู้มีความมั่งคั่งสูง” ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งลงมติเห็นชอบให้ลดค่าธรรมเนียมในการสมัคร วีซ่าระยะยาว (LTR Visa) ระยะเวลา 10 ปี ลงมาเหลือเพียง 50,000 บาท

เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่า “มั่งคั่ง” เพื่อทำ วีซ่าระยะยาว

กลุ่มเป้าหมายของวีซ่าระยะยาวนี้ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

1.กลุ่มความมั่งคั่งสูง

ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 17 ล้านบาท)

มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 35 ล้านบาท)

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุ

ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.6 ล้านบาท)

มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านบาท) หรือมีรายได้เงินบำนาญ ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท)

3.กลุ่มผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย

มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านบาท) หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือได้รับเงินทุน Series A มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านบาท) หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

คุ้มค่าแค่ไหน : มาเลเซียเพิ่มมาตรการใหม่ในการทำ วีซ่าระยะยาว

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดึงดูดนักลงทุนเช่นนี้มีมานานแล้ว ทั้งยังเป็นหนึ่งในแนวนโยบายที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในภูมิภาคเดียวกัน ยกตัวอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียต่างก็มีมาตรการทางวีซ่าที่คล้ายคลึงกัน

“มาเลเซีย คือ บ้านหลังที่สองของฉัน” หรือ Malaysia My Second Home โครงการวีซ่าสำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2002 แต่ถูกระงับไปชั่วคราวในช่วงกลางปี 2020 ก่อนที่กระทรวงกลาโหมจะกลับมาเปิดโครงการใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา พร้อมเงื่อนไขที่เข้มข้นขึ้นหลายเท่า

จากที่เคยกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด หรือเงินฝากธนาคารระยะสั้น เพียง 350,000 – 500,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 2.8-4 ล้านบาท ) ข้อกำหนดใหม่ปรับขึ้นมาเป็น 1.5 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 12 ล้านบาท)

รายได้จากนอกประเทศของผู้สมัครยังต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 310,000 บาท) เพิ่มขึ้นสี่เท่าจากเงื่อนไขเดิม

แม้จะไม่มีเงื่อนไขด้านการลงทุน แต่ผู้สมัครจะต้องมีเงินฝากประจำขั้นต่ำ 1 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 8 ล้านบาท) โดยรัฐบาลอนุญาตให้ถอนเงินได้สูงสุด 50% ของยอดเงินฝากเพื่อไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และการศึกษาของบุตร

เงื่อนไขเก่าของมาเลเซียบังคับให้ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ต้องมีเงินฝากขั้นต่ำเพียง 150,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 1.1 ล้านบาท) และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ต้องมีเงินฝากขั้นต่ำเพียง 300,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 2.3 ล้านบาท) เท่านั้น

รศ.ดร.อธิภัทร ชี้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่มาเลเซียปรับมาตรการของตนเองให้เข้มข้นขึ้น เพื่อคัดกรองผู้สมัครขอวีซ่าพำนักระยะยาว และเป็นประเด็นที่ไทยต้องกลับมาดูเช่นกันว่า “ถ้าเราต้องการดึงคนเข้ามา เกณฑ์ของเรามันดึงคนที่มีทักษะสูงอย่างที่เราต้องการจริงหรือเปล่า”

ช่วงปลายปี 2019 ก่อนที่มาเลเซียจะตัดสินใจระงับโปรแกรมดังกล่าวนั้น รัฐบาลปฏิเสธใบสมัครไปถึง 90%

คุ้มค่าแค่ไหน : สิงคโปร์ยกเลิก ชี้ภาษีไม่เป็นธรรม

สิงคโปร์เคยมีโครงการคล้ายคลึงกันภายใต้ชื่อ Not Ordinarily Resident (NOR) Scheme หรือโปรแกรมผู้พำนักอาศัยแบบไม่ธรรมดา แต่แล้วรัฐบาลก็ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวในปี 2019 ด้วยเหตุผลความไม่เป็นธรรมทางภาษีแก่ประชากรท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้โครงการดังกล่าวสามารถได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ ลงมาเหลือที่ขั้นเริ่มต้นเพียง 10% เท่านั้น ปัจจุบันสิงคโปร์บังคับจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าสูงสุด 22% สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีเกินกว่า 320,001 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7.9 ล้านบาท)

ตามข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาบริษัทข้ามชาติ ECA International ระบุว่า รายได้รวมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้จัดการระดับกลางในสิงคโปร์ ณ ปี 2021 อยู่ที่ 314,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7.8 ล้านบาท)

แท้จริงแล้วก่อนหน้าที่ ครม.จะลงมติเห็นชอบกับการลดค่าธรรมเนียมสมัครวีซ่าระยะยาวนี้ ครม.ยังอนุมัติหลักการ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายลงเหลือเพียง 17% เท่านั้น

ในการแถลงเรื่องวีซ่าระยะยาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสักนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า จะมีชาวต่างชาติ เข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน และกระทรวงการคลังประมาณการว่า จะไม่มีการสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมิน”

อัตราภาษีเงินได้ของไทยเริ่มต้นที่ 5% สำหรับผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 150,001 – 300,000 บาท/ปี เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดไปจนถึงระดับ 35% สำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 5 ล้านบาท/ปี ข้อมูลจาก ECA International พบว่า รายได้เฉลี่ยของผู้จัดการระดับกลางรวมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในไทยตกอยู่ประมาณ (ราว 626,000 บาท)

ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน พบว่าไทยมีแรงงานต่างชาติทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติภายใต้มาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุนเพียง 43,885 คนเท่านั้น

สามอาชีพหลักสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้ประเภทส่งเสริมการลงทุนได้แก่ 1.ผู้จัดการฝ่ายอื่น ๆ 2.ช่างเทคนิคด้านต่าง ๆ และ 3.กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับสูง

วีซ่าระยะยาว 2

คุ้มค่าแค่ไหน : กรณีศึกษาจากยุโรป

งานวิจัยจาก คริสติน ซูรัก และ ยูซูเกะ ซึซูกิ ที่ตีพิมพ์เมื่อพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยใช้กรณีศึกษาจากโปรแกรมวีซ่าจากการลงทุนในทวีปยุโรปซึ่งส่วนมากมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน พบว่าโดยรวมแล้วมีส่วนสร้างเสริมผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีเฉลี่ยเพียง 0.3% เท่านั้น

รายงานยังเตือนว่า ควรมองนักลงทุนย้ายถิ่นเหล่านี้ให้คล้ายคลึงกับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ มากกว่า มองว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นระยะยาว เนื่องจาก “พลเมืองยืดหยุ่นได้” (flexible citizens) เหล่านี้ใช้การลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตนเอง มากกว่า “มาลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจ”

ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากออกมาเตือนว่า การสนับสนุนโปรแกรมวีซ่าเหล่านี้จะเร่งให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อมูลจากการวิจัยกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสัดส่วนของผู้ที่ถือโกลเดนวีซ่าเหล่านี้มีน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งตลาด

ปัจจุบันโปรแกรมโกลเดนวีซ่าในยุโรปทำเงินให้เศรษฐกิจของทวีปนี้ปีละ 3,000 ล้านยูโร (ราว 1.1 แสนล้านบาท) ตามข้อมูล ณ ปี 2020

ผศ.คริสติน ซูรัก คณะสังคมวิทยา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เผยกับบีบีซีไทยว่า หากอยากจะพิจารณาว่า แท้จริงแล้วโปรแกรมโกลเดนวีซ่าเช่นนี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ รัฐบาลจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาความต้องการของประเทศอย่างถี่ถ้วนก่อน

“มีชาวต่างชาตินำเงินมาลงในคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ มากอยู่แล้ว คุณยังต้องการเพิ่มอีกเหรอ” ผศ.คริสติน ตั้งคำถาม

ในตอนที่เธอเดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 2018 เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลทำวิจัย เธอพบว่า โปรแกรมโกลเดนวีซ่าของไทยนั้นกลับไม่ได้เน้นไปที่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับของมาเลเซียหรือแม้แต่กับฝั่งยุโรป “บริการของไทยเหมือนกับ ‘เจ้าหน้าที่ดูแลแขก’ [concierge] มากกว่า”

ผศ.คริสติน เล่าว่า เจ้าหน้าที่จากฝั่งไทยได้ลองให้เธอซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงสนามบิน และกำลังจะต้องผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองในเวลาประมาณเที่ยงคืน ใช้ช่องทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่าเหล่านี้

เธอพบว่า บริการดังกล่าวสะดวกกว่ามาก เนื่องจากแม้จะเป็นเวลาดึกแล้ว แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่รอผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก

“มันก็เห็นได้ชัดว่า ทำไมนักธุรกิจยอมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกนี้”

เมื่อโปรแกรมวีซ่าของไทยตั้งอยู่บนความสะดวกสบาย ผศ.คริสติน ชี้ว่า เพื่อจะตอบคำถามว่า โปรแกรมดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ จึงต้องไล่ลงไปดูว่า เหล่านักธุรกิจที่มาทำธุรกิจหรือมาลงทุนในไทยมองว่า สิ่งที่พวกเขาจ่ายไปคุ้มค่าไหม และก่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจจากนักลงทุนเหล่านี้ตามมาจริงหรือไม่

ทว่าสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับกฎเกณฑ์หรือข้อกฎหมายโดยทั่วไปที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนเช่นกัน

ขณะที่รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำหลายประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทูตนอกแถว’ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า โดยหลักการแล้วโครงการวีซ่าเช่นนี้ก็เป็นการส่งเสริมการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ในเวลาเดียวกันยังมีประเด็นที่รัฐบาลควรเร่งจัดการให้รวดเร็วไม่แพ้กันคือปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

“ทุกวันนี้เรายังมีประกาศสภาวะฉุกเฉินอยู่เลย ไม่เอื้ออะไรต่อการลงทุนเลย เป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ”

สำหรับอดีตทูตที่ต้องคอยประสานงานกับชาวต่างชาติ รัศมิ์ชี้ว่า “การเมืองของเรายังไม่นิ่ง ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้จับม็อบ มีเรื่องอื่นอีกเยอะที่เราไม่ไปแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าจะดึงดูด [นักลงทุน] มีเรื่องอีกเยอะที่ต้องทำ ”

ตามการจัดอันดับความง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2020 ของธนาคารโลก ไทยรั้งอันดับที่ 21 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แม้จะเป็นอันดับที่ดี แต่ประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียมีอันดับดีกว่าไทยอย่างชัดเจน สิงคโปร์ครองอันดับที่ 2 ของโลก ขณะที่มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 12

อีกทั้ง ไทยเคยขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 13 เมื่อปี 2009 ก่อนที่อันดับจะตกลงมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

สหราชอาณาจักร : เงินผิดกฎหมาย ฟอกเงิน รัสเซีย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปแล้ว ตัดสินใจยกเลิกโปรแกรมวีซ่าดังกล่าว จากความพยายามแก้ปัญหาการฟอกเงิน

ประกาศดังกล่าวออกมาในช่วงเดียวกับที่สังคมตะวันตกต่างพยายามกดดันรัสเซียทุกทางเพื่อยุติสงครามในยูเครน

วีซ่าดังกล่าวซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Tier 1 (investor)’ อนุญาตให้ผู้ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงินอย่างต่ำ 2 ล้านปอนด์ (ราว 85 ล้านบาท) พร้อมด้วยครอบครัวพำนักอยู่ในสหราชอารณาจักรเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ในขั้นต้น ก่อนจะขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี

สำหรับผู้ที่ลงทุน 5 ล้านปอนด์ขึ้นไป (ราว 212 ล้านบาท) สามารถยื่นขอใบอนุญาตพำนักถาวรได้หลังจากลงทุนไปแล้ว 5 ปี หรือหากลงทุน 10 ล้านปอนด์ขึ้นไป (ราว 424 ล้านบาท) สามารถขอใบอนุญาตพำนักถาวรได้หลังจากลงทุนไปแล้ว 2 ปี

รัฐบาลอังกฤษออกมาแถลงหลังยกเลิกวีซ่าดังกล่าวว่า โครงการนี้ “ไม่ได้สร้าง [ประโยชน์] ให้กับคนในสหราชอาณาจักร ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชนชั้นสูงที่ทุจริต เข้ามายังสหราชอารณาจักร”

พริที พาเทล รมว.มหาดไทย กล่าวกับบีบีซีว่า “จะทำให้ประชาชนมั่นใจในระบบของเรา ซึ่งนั่นรวมถึงการหยุดยั้งชนชั้นสูงที่ทุจริตและเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมถึงการเอาเงินสกปรกเข้ามายังเมืองของเรา”

เมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอของรัฐสภายุโรปที่เสนอให้มีการตรวจสอบและปรับปรุงโปรแกรมวีซ่าผ่านการลงทุน โดยองค์กรฯ ซึ่งคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอดเห็นว่าโปรแกรมย้ายถิ่นฐานผ่านการลงทุน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งยังเน้นว่า เศรษฐีชาวรัสเซียใช้ประโยน์จากช่องโหว่ของโปรแกรมดังกล่าว

มัยรา มาร์ตินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นทางของเงินผิดกฎหมาย จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล ชี้ว่า “ข่าวฉาวมากมายแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าโครงการขุ่นมัวนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อการย้ายถิ่นฐานหรือการลงทุนแท้ที่จริง”


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
เอซี มิลาน สนใจ ลอฟตัส-ชีค เหลือสัญญากับ เชลซี อีกปีเดียว
วิธีดูคะแนน March Madness แบบสดๆ บนหน้าจอล็อค
ความหวังสำหรับ NWSL ‘ใหม่’ หลังจากอดีตโค้ชถูกแบน
รายการสำหรับ Back-to-School
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://virtual-protect.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.bbc.com